ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่า หลังนักวิเคราะห์ยังเก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ย เจ้าหน้าที่เฟดระบุอาจขึ้นดอกเบี้ยไปจนแตะระดับ 4.5% -5% ภายในต้นปีหน้า หากเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาแทบไม่สามารถสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันวันที่ 17-21 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/10) ที่ระดับ 38.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (12/10) ที่ระดับ 38.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนซื้อหวยออนไลน์ เว็บไหนดีภายหลังการเปิดเผยข้อมูลการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนสิงหาคม

ค่าเงินดอลลาร์ยังเคลื่อนตัวในทิศทางแข็งค่าหลังนายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิสเปิดเผยว่า เฟดอาจจำเป็นต้องผลักดันอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงกว่า 4.75% หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับตัวสูงขึ้นแบบต่อเนื่อง

นายแคชแครี่กล่าวว่า “ตัวเลขที่ผมเสนอนั้นพิจารณามาจากเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง” พร้อมเสริมว่า “ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น ผมก็ไม่เห็นว่าเราจะหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างไร”

โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดส่วนใหญ่คาดว่าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับ 4.5% -5% ภายในต้นปีหน้า โดยอิงจากการคาดการณ์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่ผ่านมาและความคิดเห็นที่เผยแพร่ต่อสาธารณะตั้งแต่นั้นมา ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของนายแคชแครี่ส่งสัญญาณถึงความพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

เปิดรายงาน Beige Book
นอกจากนี้ เฟดได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ 12 เขต หรือ Beige Book โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ขยายตัวเล็กน้อยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้กิจกรรมในบางเขตทรงตัว และบางเขตชะลอตัวลง นอกจากนี้รายงานยังสะท้อนให้เห็นว่า ภาคเอกชนของสหรัฐ มีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย นายแพทริก ฮาเกอร์ ได้ออกมาแถลงว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาแทบไม่สามารถสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยเขามองว่าเฟดควรจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ 4% ในปลายปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่มีการเปิดเผยในช่วงปลายสัปดาห์นั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดรอบ 3 สัปดาห์ ขณะที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลดลง 1.5% สู่ระดับ 4.71 ล้านยูนิตในเดือนกันยายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ในช่วงต้นสัปดาห์ ได้มีรายงานถึงถ้อยแถลงของ นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่า ทิศทางนโยบายการเงินในช่วงต่อไปจะเป็นการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมปรับไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าคาดการณ์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าร้อยละ 0.5 หรือหากเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจถูกหยุดชั่วคราวหรือลดอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย

นอกจากนั้นแล้ว ในงานสัมมนาประจำปีของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ที่จัดขึ้นในวันอังคาร (18/10) นักวิเคราะห์ของฟิทช์คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศจะเผชิญกับภาวะการชะลอตัว เนื่องจากประเทศไทยยังมีแนวป้องกันในส่วนของภาคการเงินต่างประเทศ (external finance) ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง รวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งผลการดำเนินงานโดยรวมของภาคธนาคารและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมน่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตอาจจะถูกจำกัดโดยต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.92-38.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 38.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัว
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/10) ที่ระดับ 0.9746/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (12/10) ที่ระดับ 0.9705/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนางกิตา โกปินาธ รองผู้อำนวยการคนที่หนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แสดงความเห็นว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจะชะลอตัวลงอย่างมาก ซึ่งเราคาดว่าจะเติบโตขึ้นเพียง 0.5% ในปีหน้า”

อย่างไรก็ตาม นางโกปินาธระบุว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรจะกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติภายในสิ้นปีนี้และคุมเข้มนโยบายการเงินในปีหน้า ทั้งนี้ ECB ลดการใช้นโยบายเชิงผ่อนคลายมาตลอดทั้งปีและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกัน 1.25% ในการประชุมสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซน จากสถาบัน ZEW เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ -59.7 สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -61.2 เดือนก่อนหน้าที่ระดับ -60.7 และตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมัน จากสถาบัน ZEW เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ -59.2 สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -65.7 เดือนก่อนหน้าที่ระดับ -61 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงมุมมองต่อสภาวะเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ดีกว่าคาดการณ์ แม้ว่าจะยังคงเป็นมุมมองในด้านลบอยู่ก็ตาม

ขณะที่ในวันพุธ (19/10) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (Core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนกันยายน ปรับขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.8% เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.3% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยมีกรอบระหว่าง 0.9631-0.9875 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (21.10) ที่ระดับ 0.9739/42 ดอลลาร์สหัฐ/ยูโร

“ลิส ทรัสส์” นายกฯอังกฤษลาออก
อนึ่งในวันพฤหัสบดี (21/10) นางลิส ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยการลาออกดังกล่าวจะทำให้แผนการด้านเศรษฐกิจของเธอต้องยุติลงด้วยหลังจากที่แผนดังกล่าวสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินในช่วงที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่จะมีขึ้นภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ นางทรัสส์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเธอต้องสั่งปลดนายควาชี ควาร์เต็ง รัฐมนตรีคลังออกจากตำแหน่ง และยกเลิกแผนการด้านเศรษฐกิจทั้งหมดของเธอ หลังจากที่แผนปรับลดภาษีครั้งใหญ่โดยไม่มีเงินทุนรองรับนั้น ได้ส่งผลให้เงินปอนด์และราคาพันธบัตรของอังกฤษดิ่งลงอย่างหนัก จนธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซง

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/10) ที่ระดับ 148.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (12/10) ที่ระดับ 146.39/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมากล่าวว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และ BOJ จำเป็นต้องคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow Interest Rate Policy) ต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

โดยนายคุโรดะยืนยันที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยแม้ว่านโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐจะปรับตัวกว้างขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางของทั้งสองประเทศดำเนินนโยบายที่สวนทางกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ BOJ ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน

ค่าเงินเยนยังได้รับแรงกดดันหลังกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 2.09 ล้านล้านเยน (1.394 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน ทั้งนี้ ยอดนำเข้าเดือนกันยายนของญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 45.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และนับเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ยอดการนำเข้าขยายตัวมากกว่า 40% เนื่องจากญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยังส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงปรับตัวขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าไปอยู่เหนือระดับ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนจับตาความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแทรกแซงตลาดอีกครั้งจากญี่ปุ่นเพื่อพยุงค่าเงินเยน ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.48-150.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 150.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ