สศค.เผยผลการเสวนาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ชี้ประเด็นสำคัญ “ปฏิรูปภาษี” เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ หนุนฟื้นฟูเศรษฐกินหลังโควิด

วันที่ 8 เมษายน 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการเสวนาหัวข้อ “การเงินยั่งยืน : การระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19” ที่จัดขึ้นในช่วงเดียวกับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting : AFMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM) ครั้งที่ 8 ที่มีราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ประจำปี 2565

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยได้กล่าวถึงความสำคัญในการปฏิรูปด้านการคลัง โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐบาลใช้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการจัดเก็บภาษี ซึ่งไทยได้ผลักดันให้มีการศึกษาประเด็นดังกล่าวภายใต้กรอบ AFMM รวมถึงเห็นชอบแนวคิดของ ADB ในการจัดสัมมนาในหัวข้อการระดมทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงการดำเนินการของไทยในการส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) อาทิ การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจะได้ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีการออกผลิตภัณฑ์ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ได้มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าและแผนการดำเนินงานของปี 2565-2566 ของแผนการรวมตัวทางการเงินการคลังอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN : RIA-Fin) ใน 6 ประเด็นหลัก

ซึ่งได้แก่ (1) การเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (2) การพัฒนาตลาดทุน (3) การเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน (4) การรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (5) การเข้าถึงบริการทางการเงิน และ (6) ระบบการชำระเงินและธุรกรรมทางการเงิน โดยเน้นการดำเนินงานที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance